Friday, October 19, 2012

งานเข้า กสทช. ลงมติเห็นชอบผลประมูล 3G ด้านกระทรวงการคลังชี้ "ฮั้วประมูลชัด"

3GThaiimages

ช่วงนี้ข่าวการประมูล 3จี เป็นที่จับตามอง แม้จะเสร็จสิ้นการประมูลไปแล้ว เมื่อวานนี้ทาง คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) หน่วยงานย่อยของ กสทช.  ได้ลงมติเห็นชอบผลการประมูลคลื่น 2.1GHz ด้วยคะแนนเสียง 4-1 เรียกว่าเห็นชอบ ไม่มีการฮั้วประมูล แต่ทางกระทรวงการคลังกลับไม่คิดเช่นกัน โดย โดยคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมบัญชีกลาง หรือ กวพ.อ ได้ทำหนังสือ "ด่วนที่สุด" ที่ กค (กพวอ) 0421.3/42301 ลงวันที่ 18 ต.ค. 2555 ส่งตรงถึงประธาน กสทช. (พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี) โดย ชี้ว่าการประมูลคลื่นความถี่ 3G เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา มีการฮั้วประมูลกันอย่างชัดเจน โดยมีรายละเอียดของข่าวดังนี้

บอร์ด กทค. มีมติเห็นชอบผลการประมูลใบอนุญาต 3 G

    ร.ศ. ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า ตามที่สำนักงาน กสทช. ได้จัดการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz เพื่อนำเอาคลื่นความถี่มาให้บริการประชาชน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา นั้น

    วันนี้ (18 ตุลาคม 2555) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ครั้งที่ 38/2555 มีมติเห็นชอบผลการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz ตามผลดังนี้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เสนอราคาเป็นเงิน 14,625 ล้านบาท ได้เลือกย่านความถี่ชุดที่ 7-9 (1950 MHz -1965 MHz และ 2140 MHz – 2155 MHz) บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด เสนอราคาเป็นเงิน 13,500 ล้านบาท เลือกย่านความถี่ชุดที่ 4-6 (1935 MHz – 1950 MHz และ 2125 MHz – 2140 MHz) บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด เสนอราคาเป็นเงิน 13,500 ล้านบาท เลือกย่านความถี่ชุดที่ 1-3 (1920 MHz – 1935 MHz และ 2110 MHz – 2125 MHz) และให้สำนักงานดำเนินการตามที่กำหนดในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 ต่อไป

    ร.ศ. ประเสริฐ กล่าวต่อว่า การประชุมในวันนี้เป็นการประชุมวาระเดียวเพื่อพิจารณาผลการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ ย่าน 2.1 GHz ส่วนการดำเนินการต่อไปเป็นเรื่องของสำนักงาน กสทช. ที่จะดำเนินการให้ใบอนุญาต ทั้งนี้ กทค. จะออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ให้แก่แต่ละบริษัท ภายหลังจากที่บริษัทได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนได้รับใบอนุญาต ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 ครบถ้วน ภายใน 90 นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประมูล

    สำหรับเงื่อนไขการดำเนินการก่อนได้รับใบอนุญาต แต่ละบริษัทต้องดำเนินการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz งวดที่ 1 เป็นจำนวน 50% ของราคาสูงสุดที่ได้เสนอในการประมูล พร้อมส่งหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินประเภทธุรกิจธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 เพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz งวดที่ 2 และงวดที่ 3 ทั้งนี้เงินค่าประมูลที่ต้องชำระยังไม่รวมภาษี และค่าธรรมเนียมต่างๆ และดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนด และต้องนำส่งเอกสารหลักฐานและข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการอนุญาตสำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ตามข้อ 4 ของภาคผนวก ก ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 แก่สำนักงานฯ ให้ครบถ้วนถูกต้องตามรายละเอียดที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน กรณีปรากฏว่าเอกสารหลักฐานและข้อมูลเหล่านั้นไม่ถูกต้องหรือไม่เพียงพอ

    ร.ศ. ประเสริฐ กล่าวอีกว่า ผู้เสนอราคาในการประมูลแต่ละรายน่าจะได้รับใบอนุญาตภายใน 7 วัน หลังจากที่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนได้รับใบอนุญาต ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 เรียบร้อย ในส่วนของเงินรายได้จากการประมูลจะนำเงินที่ได้หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแล้วส่งกระทรวงการคลังให้เร็วที่สุด

    สำหรับรายละเอียดเรื่อง การชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz นั้น แต่ละบริษัท จะต้องชำระเงินตามราคาที่เสนอราคาสูงสุดของแต่ละราย โดยแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด คือ งวดที่ 1 ชำระเงินเป็นจำนวน 50% ของราคาที่เสนอราคาสูงสุด พร้อมหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร เพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าประมูลในส่วนที่เหลือ ภายใน 90 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประมูล งวดที่ 2 ชำระเงินเป็นจำนวน 25% ของราคาที่เสนอราคาสูงสุด พร้อมหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร เพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าประมูลงวดที่ 3 ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต และงวดที่ 3 ชำระเงินเป็นจำนวน 25% ของราคาที่เสนอราคาสูงสุด ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต ทั้งนี้เงินที่แต่ละรายต้องชำระ ยังไม่รวมภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ และดอกเบี้ย ตามที่กฎหมายกำหนด

    ร.ศ. ประเสริฐ กล่าวว่า จากนี้ไปจะมองไปที่การกำกับดูแลผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบ ที่ 3 ที่จะให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่ได้รับใบอนุญาตไป โดยจะดูตั้งแต่ว่ามีการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเกิดขึ้นหรือไม่ อัตราค่าบริการสมเหตุสมผลหรือไม่ ต้นทุนเป็นอย่างไร คุณภาพของการให้บริการเป็นอย่างไร “ โดยส่วนตัวคิดว่าค่าบริการต้องถูกกว่าปัจจุบัน”

ด่วนที่สุด! ก.คลังทำหนังสือถึง กสทช.ติงประมูล 3 จี ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริง ส่อผิด พ.ร.บ.ฮั้ว

urgently1

ไม่ทันข้ามวันที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติ 4 ต่อ 1 รับรองผลการประมูลใบอนุญาตประกอบการ หรือไลเซ่นส์ คลื่นความถี่ 3 จี 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ ก็ปรากฏว่า คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ส่งหนังสือ "ด่วนที่สุด" ที่ กค (กพวอ) 0421.3/42301 ลงวันที่ 18 ต.ค.2555 ถึงประธาน กสทช. อ้างถึงการประมูลไลเซ่นส์ 3 จีดังกล่าว ที่มีการแบ่งคลื่นความถี่ออกเป็น 9 ช่วง (สลอต) ซึ่งกำหนดให้ผู้เข้าประมูล 1 ราย ต้องยื่นข้อเสนอ 3 สลอต ผลปรากฏว่า ได้ผู้ชนะการประมูลซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการสื่อสารรายใหญ่ๆ ในประเทศ 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทคเนคเวอร์ค จำกัด และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด โดยทั้ง 3 ราย ประมูลได้คลื่นความถี่ 3 สลอตเท่ากัน

    คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) พิจารณาแล้ว เห็นว่า ในหลักการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 ข้อ 4 กำหนดให้การจัดหาพัสดุของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐที่อยู่ในสังกัดการบังคับบัญชาหรือการกำกับของฝ่ายบริหารตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวที่กิจการ โครงการ หรือการก่อสร้างมีมูลค่าตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ดำเนินการตามระเบียบนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจาก กวพ.อ.ให้จัดหาด้วยวิธีการอื่นได้ โดยเจตนารมณ์ของระเบียบฯ พ.ศ.2549 ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่ถือปฏิบัติโดยทั่วไป ที่ต้องกำหนดเป็นการเปิดกว้าง และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันด้านราคาอย่างเป็นธรรม

    “กรณีสำนักงาน กสทช. ปรากฏว่า การดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2555 มีผู้ประมูล 3 ราย โดยมีการเสนอราคาเพิ่มขึ้นน้อยครั้งเมื่อเทียบกับระยะเวลาที่กำหนดให้มีการประมูล และคลื่นความถี่ที่ประมูลมีจำนวนพอดีกับผู้เสนอราคาที่สามารถจัดสรรได้รายละ 3 สลอต กรณีจึงถือได้ว่าการประมูลดังกล่าวไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของการประมูลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

    "ประกอบกับผู้ชนะการประมูลจะได้รับประโยชน์จากการให้บริการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เนื่องจากคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น หากการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่กรณีนี้เป็นไปอย่างไม่เหมาะสม หรือมีอาจมีลักษณะการสมยอมราคาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) จะส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล และคณะกรรมการ กสทช.อาจอยู่ในข่ายต้องรับผิดตามกฎหมายดังกล่าว จึงเรียบมาเพื่อโปรดพิจารณา” หนังสือดังกล่าวระบุ

    ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าว ลงนามโดย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่แทนปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 18 ต.ค.2555

 

ที่มา : ไทยรัฐ, สำนักข่าวอิศรา

0 Responses to “งานเข้า กสทช. ลงมติเห็นชอบผลประมูล 3G ด้านกระทรวงการคลังชี้ "ฮั้วประมูลชัด"”

Post a Comment

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...
All Rights Reserved iPhoneAppTube | Blogger Template by Bloggermint