Thursday, May 17, 2012

เรื่องของ iPad ที่คุณอาจไม่เคยรู้

BT-Ta-History-Of-Apple-Updated-2011-480i60_480x270

 

บทความน่าสนใจ ของคุณ เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง  ที่ลงใน มติชน เกี่ยวกับ iPad ถึง วันนี้ iPad ได้สร้างปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน นั่นก็คือความนิยมชมชอบอย่างถล่มทลายในหมู่คนในทุกๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก วัยรุ่น หนุ่มสาว คนทำงาน และรวมถึงคนสูงวัยในบางกรณี เมื่อวานนี้ผู้เขียนได้พบผู้นิยมไอแพดคนล่าสุด เป็นเด็กลูกหลานวัยยังไม่ถึงสามขวบดี และยังไม่ได้เข้าโรงเรียนอนุบาล แกติดใจขอเล่นเกม Angry Birds ทุกวันจากไอแพดของผู้เป็นลุง

จากวันที่ iPad ออกสู่ตลาดครั้งแรกในต้น ปี 2554 ขณะนี้มีคนเป็นเจ้าของไอแพดแล้ว 55 ล้านคนทั่วโลก ในวันแรกๆ ที่ไอแพดออกสู่ตลาดได้มีคนที่ได้สัมผัสมันเป็นครั้งแรกบอกกับ สตีฟ จ็อบส์ ว่า เขาคิดว่าในไม่ช้าผู้บริโภคจะนึกไม่ออกอีกต่อไปว่าทำไมครั้งหนึ่งเขาจึงต้อง การใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก และในวันนี้ดูเหมือนว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นชักใกล้จะเป็นจริงแล้ว
ความ ต้องการที่แรงกล้าของเด็กวัยรุ่นที่อยากเป็นเจ้าของจะเห็นได้จากการที่เด็ก ป.5 คนหนึ่งเก็บเงินค่าขนมวันละ 60 บาท ที่พ่อให้ทุกๆ วัน เพื่อให้มีเงินครบและนำไปซื้อไอแพด โดยที่มีคุณแม่ใจอ่อนเติมเงินให้อีก 3,000 บาท และเมื่อเขาได้เป็นเจ้าของมันก็ปรากฏว่าพ่อนั่นแหละขอมาใช้ด้วย

เมื่อ ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ New iPad วางตลาด ภายในวันหยุดเสาร์อาทิตย์เดียวเท่านั้น มันก็ขายได้ 3 ล้านเครื่องทั่วโลก ทิม คุก ซึ่งขึ้นมาเป็นซีอีโอของแอปเปิ้ลต่อจาก สตีฟ จ็อบส์ ประกาศเมื่อ 19 มีนาคมว่า เงินสดจำนวน 98,000 ล้านเหรียญ ที่บริษัทมีอยู่ส่วนหนึ่งจะนำออกมาจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น ในปี 2553 นี้เขาคาดว่าบริษัทจะมียอดขาย 38,000 ล้านเหรียญ  เมื่อ ไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว แอปเปิ้ลขายไอแพดไปทั้งสิ้น 15.4 ล้านเครื่อง ซึ่งมากกว่าจำนวนพีซีที่เอชพีซึ่งเป็นแบรนด์พีซีอันดับหนึ่งของโลกขายไป

เกิดอะไรในโลกคอมพิวเตอร์กันนี่ ?
ใช่ไหมที่ว่าแอปเปิ้ลได้กลายเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว หากเรายอมรับว่าผู้คนมากมายในโลกนี้ได้เลิกซื้อพีซีหันมาซื้อไอแพดกันแทน ก็ดูอย่างเด็กชายคนที่เก็บเงินค่าขนมวันละ 60 บาท ไปซื้อไอแพด เขายังอายุไม่เท่าไหร่ อยู่ชั้น ป.5 และยังไม่ถึงวัยใช้โน้ตบุ๊กทำงานทำการ แต่เขาต้องมีไอแพดให้ได้ ไม่ได้เล่นเกมอย่างที่เราคาดด้วย เขาใช้ app โหลดหนังสือต่างๆ มาอ่าน ไม่เบาเลยทีเดียว ในขณะที่ท้องตลาดก็มี คอมพิวเตอร์ประเภทเดียวกันที่เราเรียกว่าแท็บเล็ต จากค่ายต่างๆ เช่น ซัมซุง เอชพี โมโตโรล่า เดลล์ แต่ผู้คนก็ไม่คลั่งไคล้ใหลหลงมันเหมือนไอแพด ชนิดที่ถ้าไม่ได้จะต้องลงไปดิ้น หรือไม่ก็ลงแดงตาย ทำให้ไอแพดครองตลาดไปแล้วถึงร้อยละ 66

ผู้ผลิตรายอื่นๆ กำลังหนาวสั่นกันไปเป็นแถว ยอดขายกำลังถูกไอแพดกัดกร่อนอยู่ทุกวี่ทุกวัน ความแตกต่างในเรื่องแนวคิดระหว่างผู้ผลิตพีซีรายอื่นๆ กับแอปเปิ้ลคือที่มาของชัยชนะของแอปเปิ้ลบนสังเวียน ผู้ผลิตพีซีรายอื่นๆ ไม่มีความกล้าเหมือนที่แอปเปิ้ลมีใน แต่ละปี ทุกๆ แบรนด์จะผลิตพีซีหรือโน้ตบุ๊กขึ้นมาด้วยการคำนวนต้นทุนและกำไร ตั้งแต่ยุค 1980-1990 ยักษ์ใหญ่สองรายคือไมโครซอฟต์และอินเทลคือผู้ครองตลาดพีซี ทุกๆ ค่ายจำเป็นต้องใช้ชิพส์ของอินเทล และระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟต์ซึ่งกลายเป็นต้นทุนราคาแพงที่ทำให้แต่ละผู้ผลิตขยับตัวไม่ได้มาก แนวคิดของผู้ผลิตอย่างเอชพี คือทำอย่างไรจึงจะสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีต้นทุนต่ำที่สุด และขายให้ได้ปริมาณมากที่สุด มันคือการขาดความเอาใจใส่ว่าผู้บริโภคอยากได้อะไร ? นั่นไม่ใช่วิธีคิดของแอปเปิ้ล

แอปเปิ้ลคิดว่า หลบมุมเงียบอยู่สามสี่ปีก็ได้ แล้วเมื่อได้ผลิตภัณฑ์ที่ "โดน" จริงๆ แล้วค่อย "โดด" ออกมา แอปเปิ้ล เริ่มคิดเรื่องแท็บเล็ตตั้งแต่เมื่อ 9 ปีที่แล้ว สตีฟ จ็อบส์ สังเกตเห็นวิศวกรของเขาเริ่มค้นคิด multi touch displays ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถทำหลายๆ อย่างบนหน้าจอได้ในขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะอ่านบทความ หรือเช็กหุ้น หรือรับส่งอี-เมล โดยไม่ต้องปิดหน้าจอหนึ่งแล้วเปิดอีกหน้าจอ ตอนนั้นสตีฟบอกให้ทีมงานพักเรื่องนี้ไว้ก่อน และหันมาทุ่มเรื่องไอโฟน เชื่อแน่ว่าเขาคิดอะไรบางอย่างอยู่ในใจ หลัง จากความสำเร็จของไอโฟน เราก็รู้ว่าสิ่งที่เขาคิดก็คือ เขาได้วางอินฟราสตรักเจอร์ของไอแพดไว้เรียบร้อย ด้วยการใช้ร่วมกันกับไอโฟน ได้แก่ App Store และระบบปฏิบัติการต่างๆ (iOS) รวมทั้งปรับแบตเตอรี่ให้ใช้ได้นานขึ้น และปรับคุณภาพหน้าจอ เท่านี้ก็ได้ใจผู้บริโภค เมื่อวันที่ไอแพดออกมา ร้านแอปเปิ้ลสโตร์ทั่วโลกจึงแทบถล่มทลาย

ตอนนี้ก็เหลืออยู่ว่าผู้ผลิตเจ้าอื่นๆ จะปรับตัวอย่างไร ให้ได้ใจผู้บริโภคบ้าง อย่างเช่น หากกูเกิ้ล กับ Motorola Mobility ร่วมมือกันได้สำเร็จ กูเกิ้ลก็จะสามารถผนวกแอนดรอย และบริการอย่างอื่นอย่างยูทูบ และกูเกิ้ล แมพ เข้ากับเครื่องของโมโตโรล่าได้ ก็จะทำให้ทั้งคู่มีผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียง ไอแพด ส่วนไมโครซอฟต์ คู่รักคู่แค้นของแอปเปิ้ล ก็มีแผนการ วางตลาดวินโดว์ส 8 ซึ่งแน่นอนสามารถใช้ได้กับทั้งพีซี และแท็บเล็ต  นี่ก็เป็นการแก้เกมของไมโครซอฟต์ได้เช่นกัน
ปรากฏการณ์ ของไอแพดถือเป็นเรื่องสั่นสะเทือนวงการพีซี แน่นอน วงการพีซีซึ่งเคยอาศัยตลาดองค์กรเป็นตัวพยุงยอดขาย ปัจจุบันนี้ ผู้บริหารองค์กรก็ต้องมีไอแพดให้พนักงานไว้ใช้พรีเซ็นต์งาน เพราะมันสะดวกในการพกพา รวดเร็วในการพรีเซ็นต์ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กร

บริษัทขนาดใหญ่อย่าง สายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส และคอนติเนนทอล ก็ยังให้นักบินของตนใช้ไอแพด ทั้งหมด 10,000 เครื่อง ผลที่ได้ก็คือเจ้าไอแพดซึ่งมีน้ำหนักเพียง 1.5 ปอนด์ ได้เข้าไปแทนที่ล็อกบุ๊ก แผ่นชาร์จต่างๆ รวมทั้งสมุดคู่มือต่างๆ รวมทั้งสิ้น 15 ล้านแผ่น ทำให้สายการบินน้ำหนักเบาขึ้น และประหยัดน้ำมันไปได้ 326,000 แกลลอนต่อปี
นอกจากนี้ ข้อมูลต่างๆ ที่มาแบบอิเล็กทรอนิกส์ยังอัพเดตข้อมูลได้สะดวกรวดเร็วกว่าอีกด้วย สำหรับสายการบินอย่างยูไนเต็ดที่มีตารางบินวันละ 5,765 เที่ยว การอัพเดตข้อมูลได้รวดเร็วเป็นเรื่องที่ได้เปรียบอย่างมาก เพราะมันหมายถึงข้อมูลแบบ real time ที่สำคัญสำหรับการบิน

"แอปเปิ้ล ทำกำไรถล่มทลายเพราะใช้กระแสเงินสดที่มีกว้านซื้อชิ้นส่วนสำหรับแทบเล็ตเอา ไว้ ทุกๆ ไอแพดที่ขาย แอปเปิ้ลทำกำไรเครื่องละ 20 เปอร์เซ็นต์ และถึงแม้ว่าคู่แข่งจะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่สูสีหรือดีกว่าไอแพดได้ใน อนาคต การทำกำไรให้ใกล้เคียงกันก็เป็นเรื่องยาก

ไอแพดจะเติบโตไป พร้อมๆ กับการเติบโตของ คลาวด์ คอมพิวติ้ง ที่ทำให้ไม่ว่าเพลงหรือภาพก็สามารถโหลดได้จากอินเตอร์เน็ต ความต้องการของผู้บริโภคที่มีมากมายล้นเหลืออาจจะทำให้โรงงานแอปเปิ้ลผลิต กันแทบไม่ทันก็เป็นได้
คำบ่นของที่ปรึกษาด้านดีไซน์คนหนึ่งเป็น เรื่องน่าฟังไว้ ที่ปรึกษาคนนี้ซึ่งคุยกับหลายผู้ผลิตพีซี รวมทั้งเดลล์ และเลโนโว บอกว่า "ผมพูดจนปากเปียกปากแฉะ แต่ไม่เห็นมีใครเข้าใจ (ว่าพวกเขาต้องคิดแบบแอปเปิ้ล) วันแล้ววันเล่าพวกเขาก็ยังทำกันแบบเดิมๆ"

ที่มา : คอลัมน์ โลกหมุนเร็ว เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง มติชนสุดสัปดาห์  6-12 เมษายน 2555

0 Responses to “เรื่องของ iPad ที่คุณอาจไม่เคยรู้”

Post a Comment

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...
All Rights Reserved iPhoneAppTube | Blogger Template by Bloggermint