Sunday, May 13, 2012

15 พ.ค.นี้ กสทช. เคาะรูปแบบการประมูล 3G

news_img_388976_1

คณะอนุฯ 3G ระบุ 15พ.ค.นี้เคาะรูปแบบ-วิธี-จำนวนใบอนุญาต 3G แน่ ก่อนส่งบอร์ดกทค. ส่วนราคาเริ่มต้นคาดเสร็จมิ.ย. ชี้เน้นการแข่งขันในตลาดมากกว่าแข่งขันในการประมูล ด้านผู้เชี่ยวชาญแนะไม่มีรูปแบบการประมูลที่เหมาะสมตายตัว
      
       พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานด้านกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผย ในวันที่ 15 พ.ค.นี้ คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz (3G) เพื่อรองรับเทคโนโลยี IMT-2000 หรือ IMT Advanced จะมีมติ และสรุปประเด็นรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับการประมูลคลื่นดังกล่าว ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปีนี้ ทั้งจำนวนใบอนุญาต กระบวนการ และรูปแบบการเปิดประมูล รวมไปถึงพิจารณาเงื่อนไข N-1 ว่าจะนำมาใช้ในการประมูลครั้งนี้ด้วยหรือไหม
      
       ส่วนราคาเริ่มต้นใบอนุญาตที่จะเปิดประมูลนั้นคาดว่าจะมีความชัดเจนประมาณปลายเดือนพฤษภาคม หรือช้าสุดต้นเดือนมิ.ย.นี้ พร้อมเร่งดำเนินการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G ให้ได้ในเดือนกันยายน และตุลาคมปีนี้
      
       จากนั้นกระบวนการต่อไปคือการนำเอามติเข้าประชุมบอร์ดกทค.ในสิ้นเดือนพ.ค. ก่อนส่งต่อให้บอร์ดใหญ่กสทช.เพื่ออนุมัตมติอีกครั้งต่อไป จากนั้นจึงเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ก่อนนำขึ้นเว็บไซต์ โดยคาดว่าจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 2 เดือนหรือเสร็จสิ้นช่วงเดือนสิงหาคมจึงจะได้รูปแบบการประมูลที่จะนำไปใช้ได้จริงในการเปิดประมูล 3G ที่กำลังจะเกิดขึ้น
      
       พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า กทค.ระบุแนวทางการออกแบบการประมูลที่กสทช.ต้องการให้เกิดขึ้นคือการแข่งขันของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตในการประมูลไปแล้วในตลาดมากกว่าการแข่งขันในการประมูลเพียงอย่างเดียว ส่วนในเรื่องรายได้จากการประมูล และประสิทธิภาพในการจัดสรรคลื่นความถี่นั้นก็สำคัญเช่นเดียวกันแต่เราจะเน้นให้ตลาดเกิดการแข่งขันมากกว่า
      
       อย่างไรก็ดี กสทช.เองไม่มีแนวคิดที่จะเก็บคลื่นความถี่ 2.1GHz ที่จะประมูลจำนวน 45 MHz ไว้ เนื่องจากมีคลื่นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยต้องการนำออกมาประมูลจัดสรรให้หมดเลย เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ร่วมประมูลใบอนุญาตเกิดการแข่งขันในตลาด รวมไปถึงยังช่วยแก้ปัญาหาสัญญาเครือข่ายโทรศัพท์ล่มบ่อยในช่วงนี้ด้วย ผู้ประกอบการต่างรอลงทุนกับใบอนุญาตใบใหม่นั้นเอง
      
       ขณะที่ นายพัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญและให้คำแนะนำการออกแบบการประมูล บริษัท แคลมตัน เอ็สโซชิเอด ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยถึงการออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ 2.1GHz หรือ 3G ในประเทศไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ว่า รูปแบบการประมูลที่เหมาะสมกับประเทศไทยมองว่าต้องขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการประมูล
      
       โดยประเทศที่มีการประมูลคลื่นความถี่ ส่วนใหญ่จะเน้นประสิทธภาพในการจัดสรร และการแข่งขันในการตลาดมากกว่า ดังนั้นรูปแบบการประมูลที่เหมาะสมจึงขึ้นอยู่กับคลื่นความถี่ที่มีอยู่ในประเทศนั้นๆ ซึ่งการประมูลในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบการประมูลโดยการกำหนดคลื่นความถี่ (Spectrum Cap) อย่างการกำหนดช่วงคลื่นความถี่เป็น 9 ช่วง (lot) ช่วงละ 5MHz
      
       ขณะที่รูปแบบการประมูลที่นิยมใช้กันในทวีปยุโรป ได้แก่ 1. Simultaneous ascending bid auction การประมูลคลื่นความถี่ทุกล็อตพร้อมกัน และผู้ประมูลสามารถเสนอราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ใช้ประมูลในประเทศ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อิตาลี โปรตุเกส เยอรมนี 2.Simultaneous ascendin clock auction การประมูลโดยกำหนดใบอนุญาตแบบไม่เจาะจงความถี่ของไลเซนส์แต่ละใบ (Generic lot) ใช้ในประ เทศอินเดีย 3.Package clock auction การประมูลโดยผู้ประมูลสามารถยื่นราคาประมูลของแต่ละแพคเกจและยื่นประมูลกี่แพคเกจก็ได้ ใช้ใน อังกฤษ ออสเตรีย แดนมาร์ค เนเธอร์แลนด์
      
       อย่างไรก็ตาม รูปแบบการประมูลแบบ Spectrum Cap เป็นรูปแบบที่สามารถกระตุ้นผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ ซึ่งรูปแบบการประมูลทุกรูปแบบไม่สามารถป้องกันการฮั้วของผู้เข้าร่วมประมูลที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยาก และไม่มีวิธีใดที่จะป้องกัน ถึงแม้จะมีกฎหมายที่กำหนดในแต่ละประเทศนั้นๆ แต่ก็ยังพบผู้ที่ใช้เล่ห์เหลี่ยมช่องโหว่ของกฏหมายเข้ามาฮั่วได้เช่นกัน
      
       ด้าน นายกฤติกา มหัทธนกุล ประธานกลุ่มธุรกิจเอเชียเหนือ บริษัท โนเกีย ซีเมนส์ เน็ตเวิร์คส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ด้วยวิธีที่แบ่งเป็นล็อตๆ จำนวน 5 MHz ถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยเกินไปที่จะทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนสำหรับธุรกิจโทรคมนาคม
      
       นอกจากนี้ยังมองว่าหากมีจำนวนความจุคลื่นความถี่ ที่มีจำนวนมาก จะสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้ กับคลื่นความถี่อื่นๆ เช่น เทคโนโลยี LTE ซึ่งถือเป็นแนวโน้มเทคโนโลยีในอนาคต ที่นำมาใช้ในด้านสื่อสารข้อมูลหรือดาต้าได้ดี แต่ในขณะเดียวกันการให้บริการด้านเสียงกลับไม่ดีเท่าที่ควร แต่ในปัจจุบันผู้ให้บริการมีการนำเทคโนโลยี HSPA มาใช้รวมกัน จึงทำให้การใช้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

0 Responses to “15 พ.ค.นี้ กสทช. เคาะรูปแบบการประมูล 3G”

Post a Comment

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...
All Rights Reserved iPhoneAppTube | Blogger Template by Bloggermint